เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องวิชาและจรณะ

เรื่องวิชชาและจรณะ

[278] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม ก็จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็น
คุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับ
เราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคล
และวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเรา
หรือท่านไม่คู่ควรกับเรา อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล
ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายัง
อยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การ
ทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการ
ยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัว
และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”
[279] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ1 (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้)
ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร
ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ 190-225 คือ เพิ่มจูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะ สันโดษ การละนิวรณ์ อุปมานิวรณ์ 5 เข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :100 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯลฯ
ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ฯลฯ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่
มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น1
อัมพัฏฐะ ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จัดเป็นวิชชา
อัมพัฏฐะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ว่า ผู้
เพียบพร้อมด้วยจรณะบ้าง ว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะบ้าง อัมพัฏฐะ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่นซึ่งเหนือกว่าและประณีตกว่าวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัตินี้ไม่มีอีกแล้ว

ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

[280] อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่
4 ประการ 4 ประการอะไรบ้าง คือ
(1) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่
ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ 1 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ 226-349

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :101 }